วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

หนังสือ"กาพย์พระมาลัย" คำนำ



คำนำ
             ก่อนอื่นข้าพเจ้าขอเล่าเรื่องประวัติความเป็นมาของการชำระ "กาพย์พระมาลัย"  เรื่องนี้ให้ทราบเสียก่อน   คือเมื่อเป็นเด็กน้ันข้าพเจ้าเป็นเด็กวัดตาก้อง  อำเภอเมืองนครปฐม ซึ่งเป็นวัดบ้านนอก  อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศเหนือประมาณ ๘ กิโลเมตร  ที่วัดนั้นมีการสวดพระมาลัยกลอนสวดอยู่เสมอ  ที่วัดก็มีพระหัดสวด  เวลามีการตายที่บ้านใด   พระที่ไปสวดงานศพนั้นจะสวด ๒ อย่าง คือ สวดพระอภิธรรม ๔ จบก่อน จบแล้วก็จะมีการสวดที่เรียกว่า "สวดสังคหะ"  ต่อไปจนตลอดคืน  คือ สวดกาพย์พระมาลัยนี้เอง  สวดเป็นทำนองเสนาะ ฟังแล้ววังเวงใจดีนัก นอกจากพระสวดแล้วฆราวาสก็สวดด้วย  ข้าพเจ้ายังจำภาพและเสียงสวดนั้นก้องอยู่ในหูตลอดมา  เรียกว่าดังก้องอยู่ใน "โสตประสาท"  ไม่ลืมเลย
         ข้าพเจ้าคิดอยู่ตลอดเวลาว่า สักวันหนึ่งจะพยายามศึกษาค้นคว้าเรื่องพระมาลัยกลอนสวดนี้ให้ได้  เมื่อโตออกไปรับราชการแล้วก็ยังไม่ลืมเรื่องนี้  แต่ไม่มีเวลาและโอกาสที่จะศึกษาเรื่องนี้  จนกระทั่งลาออกจากราชการมาอยู่บ้าน มีเวลาว่างก็ไปหาซื้อหนังสือเก่าแถวแม่ธรณีบีบมวยผม  จนเขาเลิกแผงหนังสือที่นั่น  แล้วก็มาซื่อต่อที่ตลาดนัด วัดมหาธาตุ 

       เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๒  ข้าพเจ้าไปหาซื้อหนังสือเก่าแถววัดมหาธาตุ  ก็บังเอิญเป็นบุญกุศล วาสนาแต่ชาติปางก่อนมาส่งเสริม ข้าพเจ้าได้พบหนังสือ "พระมาลัยกลอนสวด"  เล่มหนึ่ง  เป็นหนังสือของชมรมพุทธศาสน์ วิทยาลัยครุธนบุรี  ว่าได้มาจากวัดศรีษะกระบือ แขวงท่าข้าม  เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ซึ่งผศ.สุภาพร มากแจ้ง  ได้ตรวจสอบชำระแล้วทางวิทยาลัยครูธนบุรีได้จัดพิมพ์ขึ้น   ฉบันนี้ข้าพเจ้าซื้อมาอ่านดูแล้วก็เห็นว่ายังมีข้อผิดพลาด  อยู่ในทางฉันทลักษณ์และถ้อยคำ   คงจะคัดลอกกันมาตกหล่นผิดพลาด  

        ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๒ ข้าพเจ้าได้พบหนังสืออีกเล่มหนึ่งในวัดมหาธาตุ  ชื่อ "คำสวดพระมาลัย"  พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระครูศีลาภิมุข(จันทร์ กิตติสิริ)  ณ. วัดเครือวัลย์วรวิหาร  เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๔ ว่าเป็นฉบับของนายสุเมธ(บุญช่วย สถาวรสมิท)  คัดลอกมาจากวัดราชาธิวาส  จึงซื้อมาอ่านดูอีกเล่มหนึ่ง แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นคำประพันธ์ชนิดใด การเรียงพิมพ์ก็เป็นแบบเก่า ไม่ได้เรียงพิมพ์ตามแบบฉันทลักษณ์ที่นิยมกัน  เพราะคัดลอกกันต่อๆมาอย่างนั้น 

        ต่อมาก็พบหนังสืออีกเล่มหนึ่งชื่อว่า "จรัมบุญ"  เขียนโดยท่าน "ศรีวัน"  พิมพ์แจกในงานศพของนางฉาย ประเสริฐสารบรรณ  ณ วัดเทพศิรินทราวาส  เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๔  ท่านศรีวัน นี้คือสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ(ปุ่น) วัดพระเชตุพนฯ  หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องพระมาลัยไว้  และมีรูปภาพจากหนังสือพระมาลัยมาลงไว้ด้วย
       
        ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเทวดาดลใจให้ข้าพเจ้าได้พบหนังสือที่ต้องประสงค์แล้วในการศึกษาเรื่องพระมาลัย  เป็นการได้มาในระยะเวลาใกล้เคียงกันอย่างน่าอัศจรรย์เหมือนเทพเจ้าดลใจ
        
        ข้าพเจ้าเคยไปร้าน ส.ธรรมภักดี ที่ถนนข้าวสาร บางลำพู เห็นพิมพ์เรื่องพระมาลัยไว้เป็นแบบสมุดข่อย  นึกว่าอยากจะซื้อหามาเทียบในการศึกษาพระมาลัย แต่ก็ไมกล้าซื้อ  ไม่ใช่อยู่ที่ราคาแพงถึงเล่มละ ๕๐๐ บาทดอก แต่คนโบราณมักจะถือกันมาก่อนแต่รุ่นพ่อแม่แล้วว่า  คัมภีร์พระมาลัยแบบสมุดข่อยนี้ ห้ามนำเข้าบ้าน ให้นำเข้ามาได้ตอนทีมีคนตายในเรือน แล้วนิมนต์พระมาสวดพระมาลัยเท่าน้ัน  เหมือนที่ถือเคล็ดกันว่า ห้ามนิมนต์พระ ๔ รูป เข้าบ้าน ให้นิมนต์ได้หนเดียว  ตอนที่นิมนต์มาสวดศพที่บ้านเท่านั้น  ข้าพเจ้าจึงมิได้ซื้อหนังสือพระมาลัยกลอนสวดของ ส.ธรรมภักดีมาไว้ที่บ้าน

        ครั้นแล้วข้าพเจ้าก็ลงมือชำระหนังสือพระมาลัยกลอนสวดนี้เมื่อวันที่  ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๒  ใช้เวลาตรวจสอบชำระเป็นเวลา ๑๔ วัน ชำระจบ  เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๒

        เหตุที่ชำระได้เสร็จเร็วเช่นนี้ เพราะว่าข้าพเจ้ามีความชำนาญในการแต่งกาพย์พอสมควร เคยแต่งกาพย์ขนาดยาวมาแล้วคือ กาพย์พญากงพญาภาณ  เมื่ออ่านคำกาพย์จึงทราบได้ในขณะอ่านนั้นเองว่า กาพย์นี้ชื่ออะไร  ถูกต้องตามฉันทลักษณ์หรือไม่  ขาดเกินอยู่อย่างไร  คำนั้นผิดเพื้ยนอย่างไร ที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าเคยชำระกาพย์สังข์ศิลปชัย บทกวีนิพนธ์ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้วเรื่องหนึ่ง เมื่อมาอ่านคำกาพย์พระมาลัย จึงทราบได้โดยง่าย

        การชำระของข้าพเจ้านั้นคือ ลงมือพิมพ์คำกาพย์ลงในกระดาษพิมพ์ทันที แล้วก็แก้คำผิดให้เป็นคำถูก  วางรูปคำกาพย์ใหม่ตามแบบฉันทลักษณ์ บอกชื่อกาพย์ไว้ด้วย ตัดคำที่เกินออก เติมคำที่ขาดลง  ทำไปพร้อมกับที่พิมพ์คำกาพย์นั้นลงไปทีเดียว ถ้าสงสัยก็เอาสองฉบับมาเทียบกันดู

        หลักสำคัญที่ข้าพเจ้ายึดถือในการชำระกาพย์พระมาลัยนี้ คือ

       ๑. เรียงคำให้ถูกต้องตามแบบแผนของกาพย์นั้น

       ๒. บอกชื่อกาพย์ไว้ด้วยว่าชื่อกาพย์อะไร  จากต้นฉบับที่ไม่บอกไว้  หรือบอกไม่ตรง

       ๓. คงรูปถ้อยคำสำนวนเดิมของท่านไว้ ไม่เปลี่ยนแปลงเอาตามความคิดเห็นของตัวเอง  แม้คำบางคำจะเก่า เข้าใจยาก

      ๔. ถ้อยคำที่เห็นว่าเกินแบบแผนของกาพย์ชนิดนั้น ก็ตัดออกเสียบ้างเท่าที่เห็นว่าไม่เสียความ แต่ที่จำเป็นก็คงไว้  แม้ว่าจะเกินคำกาพย์น้ันๆ  

       ๕. คำที่คัดมาตกหล่น  ไม่ครบคณะของคำกาพย์นั้นๆ  ก็สรรค์หาคำมาซ่อมให้ครบคณะ โดยไม่เสียความ  แต่ได้ความชัดเจนขึ้น

       ๖. คำที่ไม่แน่ใจว่าคำเดิมเป็นอย่างไร ทั้่งที่ไม่เข้าใจ ก็คงรูปคำนั้นไว้
        
       การชำระแบบนี้ แน่นอนว่า รูปโฉมคงเปลี่ยนไปบ้าง ไม่เหมือนฉบับเดิมทั้งสิ้น  แต่ข้าพเจ้าขอรับรองด้วยจิตสำนึกของนักวรรณคดีว่า จะไม่ทำให้วรรณคดีของชาติอันสำคัญฉบับนี้เสียหายไปแม้แต่น้อย  เพราะข้าพเจ้าทราบดีว่านักกวีย่อมเลือกสรรคำมาใช้อย่างดีที่สุดแล้ว

       อย่างไรก็ดี การชำระสะสางวรรณคดีโบราณก็ดี  การบูรณะปฎิสังขรณ์โบราณวัตถุก็ดี  มีคนทำอยู่ ๓ อย่างคือ
        ๑. อนุรักษ์  คือ พยายามรักษาของเก่าไว้ให้ดีที่สุด ไม่เปลี่ยนแปลงเลย
       ๒. อภิรักษ์ คือ การชำระตบแต่งให้ดีขึ้นกว่าเดิม  ถ้าทราบว่าของเดิมเป็นอย่างไรก็ซ่อมให้ดีขึ้นเท่าของเดิม  ที่ยังไม่ชำรุดเสียหาย
       ๓. ปฎิรักษ์ (ศัพท์ใหม่ของข้าพเจ้าคิดขึ้น)  คือการรื้อของเก่าทั้งหมด แล้วสร้างขึ้นใหม่

        ตัวอย่างในทางสถาปัตยกรรมคือ
        ๑. การบูรณะปฎิสังขรณ์พระวิหารพระมงคลบพิตรที่อยุธยาของจอมพลป. พิบูลสงครามม  คือ อภิรักษ๋
        ๒. การสร้างพระปฐมเจดีย์ใหม่  ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือการปฎิรักษ์
        ๓. การบูรณะพระธาตุพนม คือ การอนุรักษ์

        การชำระของข้าพเจ้าคราวนี้ ขอรับรองด้วเกียรติของนักวรรณคดีว่า ทำโดยวิธีที่๑ และวิธีที่ ๓ ปนกัน เท่านั้น 

        กลอนสวดพระมาลัยนี้ ถ้าจะเรียกให้ถูกต้องก็ต้องเรียกว่า "คำกาพย์พระมาลัย"  เพราะนักกวีท่านแต่งเป็นคำกาพย์  คำกาพย์นี้เป็นทีนิยมแต่งและนิยมอ่านของคนไทยมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  ตัวอย่าง เช่น  คำกาพย์สังข์ศิลปชัย หรือ  "กลอนสวดเรืองสังข์ศิลปชัย"  นั้นมีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  คำกาพย์นี้เมื่อนำมาสวดกันที่พระระเบียงของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ในพระบรมมหาราชวัง  บรรดาลูกเจ้านายขุนนางมาหัดสวดกัน ทีเรียกว่า "สวดโอ้เอ้วิหารราย"  นั่นแหละ  พี่งมาเลิกร้างไปในสมัยกรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นพระสังฆราชในเวลาต่อมา  ท่านเห็นว่าการที่พระสวดแหล่กันนั้น เป็นเหมือน "พระร้องเพลง"  เสียสมณสารูป จึงให้เลิกกันเสีย  ความนิยมจึงจึดจางไปตั้งแต่นั้นมา 

        ความจริงเรื่องสวดโอ้เอ้วิหารรายนี้คือ  การสวดคำกาพย์พระมาลัย,  กาพย์นางมโนรา, กาพย์สังข์ศิลปชัย, และกาพย์พระรถนางเมรี  ซึ่งเป็นเรื่องชาดกในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น กวีท่านแต่งเป็นคำกาพย์ขึ้นเอาบุญ  คือ ให้พระสวดเป็นทำนองแหล่อันไพเราะ  เพื่อสั่งสอนอบรมประชาชนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ  เป็นการเผยแพร่คำสอนในพระพุทธศาสนาที่แยบยล  คือได้รับรสไพเราะกินใจ  จำได้แม่นยำไปในตัวด้วย    ไม่ใช่การฟังเทศน์ที่จืดชืดแห้งแล้ง

     การสวดพระมาลัยนั้น นิยมสวดกันอยู่สองอย่างคือ หนึ่งสวดในงานสงกรานต์พร้อมกับเทศน์มหาชาติ คือ สวดพระมาลัยก่อนแล้ว จึงเทศน์แหล่พระมหาเวสสันดรชาดก  การเทศน์แหล่พระมหาเวสสัตดรชาดกนี้  ท่านก็สวดเป็นทำนองเสนาะที่เรียกกันว่า แหล่มหาชาติ สมัยก่อนโน้น ท่านเทศน์แหล่ท้ัง ๑๓ กัณฑ์  แต่ละกัณฑ์นั้นมีท่วงทำนองแหล่ต่างกันออกไป การเทศน์แต่เดิมทีก็วันละกัณฑ์รวม ๑๓ วัน  เทศน์แหล่พระมาลัยเสีย ๑ วัน  ล่วงหน้าก่อน    หรือเทศน์ส่งท้ายรวม ๑๔ วัน  แต่ละวันน้ันท่านก็จัดให้มีกัณฑ์เทศน์เวร  คือ มอบให้คหบดี  หรือ คณะบุคคลจัดกัณฑ์เทศน์มาถวายพระวันละกัณฑ์  สุดแต่ว่าใครจะรับกัณฑ์เทศน์วันไหน   ดังเช่นเรื่องขุนช้างขุนแผนก็มีเทศน์อย่างนี้  แต่ละวันจึงประกวดประชันกันจัดกัณฑ์เทศน์มาไม่ให้น้อยหน้ากันได้  ถ้าจัดกัณฑ์เทศน์มาน้อย  พระที่ท่านเทศน์แหล่ท่านก็จะว่าแหล่นอกออกไปว่า   อาตมภาพนี้บุญน้อยนักหนา  เป็นพระที่ยากจน เป็นพระที่ญาติโยมน้อย อะไรทำนองนี้ สมัยก่อนน้ันจีงมีการเทศน์แหล่เรื่องพระเวสสันดรชาดกครึกครื้นมาก 


        อีกงานที่เทศน์แหล่เรื่องกลอนสวดพระมาลัยก็คือในงานศพ  เมื่อพระสวดพระอภิธรรมแล้วก็จะมีสวดสังคหะ (แปลว่า สวดสงเคราะห์)  คือสงเคราะห์เจ้าภาพไม่ให้เศร้าโศกมากนัก  เพราะมีการเทศน์แหล่หรือสวดพระมาลัยเป็นเพื่อนจนตลอดรุ่ง  พระสวดแล้ว  ชาวบ้านก็สวดต่อด้วย สวดกันไปทุกคืนจนครบ ๗ วัน จึงมีการสดับปกรณ์(แปลว่าทำบุญ ๗ วัน สดับ คือ เจ็ด  กรณ์ คือการทำบุญ) การสวดนี้คือการสอนเรื่องการทำบาปจะตกนรก  การทำบุญจะได้ขึ้นสวรรค์  ตามที่พระศรีอารย์สั่งพระมาลัยเถระมาให้บอกแก่ชาวมนุษย์  การสวดเรื่องพระมาลัยนี้ คือการสอนเรื่องบาปบุญคุณโทษเป็นคำกลอนอันไพเราะนั่นเอง  แม่ครัวหรือคนที่นั่งเล่นหมากรุกเป็นเพื่อนศพอยู่  จึงได้ฟังสวดไปด้วย  การสวดพระมาลัยนี้ แพร่หลายไปถึงปักษ์ใต้ เมืองนครศรีธรรมราช ก็นิยมสวดกันเรียกสวดมาลัย

        คนไทยสมัยก่อนเชื่อเรื่องนรก สวรรค์ เชื่อวิบากกรรมว่าทำบุญได้บุญ ทำบาปได้บาป(ไม่ใช่ว่าทำดีได้ดี  ทำชั่วได้ชั่ว) อย่างสนิทใจ จากเรื่องพระมาลัยนี้เอง  เชื่อเรื่องพระศรีอารย์จะลงมาตรัสรู้สอนชาวโลกในอนาคตอีกแสนไกล  เชื่อว่าคนเราตายแล้วต้องไปเกิดใหม่  เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด  เชื่อว่าคนเกิดมาใช้กรรมเก่า  หรือกินบุญเก่าของตนในชาติปางก่อน  คนไทยสมัยก่อนรู้เรื่องพระศรีอารย์ดีที่สุด  ไม่มีใครสงสัยเลยว่าจะไม่จริง  เชื่อว่าคนตายแล้วไม่สูญ  จะต้องเกิดอีกนับพันนับหมื่นนับแสนชาติ  ถ้ายังไม่ลุพระอรหันต์เสียก่อนแล้ว  ยังจะต้องไปเกิดอีก  แม้พระโสดาบันก็ยังต้องเกิดอีก ๗ ชาติ แต่จะไม่ลงสู่ครรภ์มารดาในชาติที่ ๘ เท่านั้น แต่ชาวบ้านยังต้องประกอบอาชีพการงานเลี้ยงตนและครอบครัวนั้น  แน่นอนยังคงต้องทำบาปกรรม ฆ่าปลาฆ่าไก่กินอยู่   จึงจำเป็นต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉานบ้าง  แต่ก็ต้ังจิตอธิษฐานว่า  "ขอให้เกิดทันศาสนาพระศรีอารย์"   คืออย่าให้ตกนรกอยู่นานจนเกิดไม่ทันพระศรีอารย์มาตรัสรู้เลย  คนทำบุญก็ตั้งจิตอธิษฐานกันว่าขอให้เกิดทันศาสนาพระศรีอารย์  คนไทยเชื่อเรื่องพระศรีอารย์กันมาก  เชื่ออย่างสนิทใจทุกคน  พระสงฆ์องค์เจ้าท่านก็เชื่อ  วัดวาอารามท่านก็หล่อรูปพระศรีอารย์ไว้กราบไหว้บูชากัน คือ รูปพระเศียรโล้น มือถือตาละปัตร  มีฉัตรกั้นเบื้องพระเศียรนั่นแหละ คือรูปพระศรีอารย์ มีอยู่ที่วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ มีที่วัดเขมาภิรตาราม เมืองนนทบุรี เป็นต้น  ชื่อวัดท่านก็ต้ังชื่อว่า วัดพระศรีอารย์  ที่เมืองสุพรรณบุรีก็มี ที่เมืองนครศรีธรรมราชก็มี  คัมภีร์พระมาลัยนี้มีอยู่ตามวัดทั่วไป  ตามวัดแถวเมืองนครปฐม เมืองสมุทรสงคราม เมืองเพชรบุรี  ยังมีอยู่ตามวัดเก่าๆ วัดโบราณทั่วไป  ที่พอจะบอกได้ก็ที่วัดเกาะแก้วสุทธาวาส  เมืองเพชรบุรี เป็นพระคัมภีร์ที่นับถือกันมากที่สุด  มีการเขียนภาพพระมาลัย พระศรีอารย์  พระอินทร์ พระพรหม  และเทวดา   ไว้ในหนังสือนั้นอย่างประณีตด้วย   คัมภีร์พระมาลัยนี้ไม่ใช่มีไว้เฉยๆ  มีไว้สำหรับสวดกันในงานสงกรานต์และงานศพดังกล่าวแล้ว 

        คัมภีร์พระมาลัยนี้ถือเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธ์  จารด้วยอักษรขอม ที่เป็นอักษรไทยก็มีอยู่  เมื่อมีการสวดศพที่บ้านแล้ว  จะต้องมีคนแบกหีบพระมาลัยนี้ไปตั้งไว้ที่หน้าศพด้วย   เพราะเหตุนั้นจึงถือเคล็ฺดกันว่าห้ามนำเอาเข้าบ้านนอกจากมีศพคนตายอยู่ในเรือน   นี่เองข้าพเจ้าจึงพลอยถือเคล็ดด้วย  ไม่กล้าซื้อพระมาลัยสมุดข่อยไปอ่านที่บ้าน  จึงไม่มีฉบับของ ส. ธรรมภักดี  เทียบในการชำระคราวนี้เพราะถือธรรมเนียมโบราณ

        น่าเสียดายนักหนาที่พระสงฆ์ในนิกายปริยัติ ท่านเห็นว่าการสวดพระมาลัยนี้เป็นเรื่องเสียสมณรูป  เพราะเท่ากับพระร้องเพลง   ท่านจึงสั่งห้ามกันเสียในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส  เป็นมหาสมณเจ้า เราลืมไปหรือว่าไม่รู้ว่าศาสนาคริสต์เขามีร้องเพลงสวดในโบสถ์เป็นทำนองกล่อมใจน่าเลื่อมใสศรัทธา ปลุกปลอบคนให้เคลิบเคลิ้มถึงพระเจ้าอยู่ทุกวันนี้  ยิ่งกว่านั้นยังมีเปียนโนบรรเลงคลอไปด้วย

     ในศาสนาพุทธเราก็มีการร้องเพลงสวดมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  ๖๐๐ ปีมาแล้ว  อาจจะมีมาก่อนหน้าน้ันก็ได้  กาพย์หรือกลอนสวดนี้มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว  มีปี่พาทย์ประโคมส่งท้ายหรือตอนหยุดสวดเป็นตอนๆ ไปด้วย  ท่านบอกไว้เสร็จว่าตอนไหนให้บรรเลงเพลงอะไร การบรรเลงเพลงนี้จะมาแต่คร้ังใดก็ไม่มีหลักฐานแน่นอน แต่อย่างช้าก็น่าจะมีในรัชกาลที่สอง  ที่ท่านให้บรรเลงเพลงรับในการขับเสภาด้วยในรัชกาลน้ัน

     สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังษี) วัดระฆัง  ซึ่งเป็นพระอริยสงฆ์องค์สำคัญ มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพบูชาของมหาชนเป็นอันมาก ท่านก็นับถือพระศรีอารย์ด้วย ท่านปรารถนาพระโพธิญาณ  ท่านปรารถนาไปเกิดในศาสนาพระศรีอารย์ด้วย  พยานหลักฐานคือท่านได้สร้างพระศรีอารย์องค์ใหญ่ไว้ที่วัดบางขุนพรหม เป็นรูปพระยืนอุ้มบาตร เรียกว่า "พระโปรดสัตว์"   พระโปรดสัตว์องค์นี้คือพระศรีอารย์ที่เรียกกันว่า หลวงพ่อโตนั่นแหละ คือ พระศรีอารย์  คนที่นับถือพระศรีอารย์จะพากันไปกราบไหว้พระองค์นี้ (ไม่ใช่พระสมณโคดม  หรือพระพุทธเจ้าในอดีต)  พระศรีอารย์คือพระพุทธเจ้าในอนาคตเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มาก ใครไปกราบไหว้ตั้งจิตปรารถนาสิ่งใด ถ้ามีบุญแล้วมักจะได้สมประสงค์  ข้าพเจ้าเองก็เคยไปกราบไหว้ตั้งจิตอธิษฐานมาแล้ว เพราะข้าพเจ้าเชื่อมั่นเรื่องชาติหน้า  ข้าพเจ้าตั้งใจปรารถนาจะไปเกิดในศาสนาพระศรีอารย์เหมือนกัน  พระราชธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อเงิน)วัดดอนยายหอม  พระอุปัชฌาชย์ของข้าพเจ้าท่านก็ต้ังจิตอธิษฐานเช่นนี้  คนไทยสมัยปู่ย่าตายายทำบุญอะไรก็ตั้งจิตปรารถนาจะไปเกิดในศาสนาพระศรีอารย์กันทุกคน  คนไทยเรารู้จักศาสนาพระศรีอารย์ดีที่สุด  ไม่ใช่รู้จักจากไหนหรอก รู้จักจากกาพย์พระมาลัยนี้เอง  เพราะท่านเอามาสวดเป็นทำนองเสนาะที่เรียกว่า  "แหล่พระมาลัย"  ให้ฟังอยู่เสมอ  คู่กับเทศน์มหาชาติ เรื่องพระเวสสันดรชาดก  ที่ท่านก็เอามาสวดเป็นทำนองที่เรียกว่า "แหล่มหาชาติ"  เดี๋ยวนี้ก็ยังมีพระสงฆ์บางวัดท่านสวดได้อยู่  ข้าพเจ้าเสียดายที่ความนิยมในเรื่องนี้่จืดจางไป  เพราะไม่ส่งเสริมแล้ว ท่านยังสั่งเลิกเสียด้วย  หาว่าพระร้องเพลงไปโน่น  แต่ฝรั่งเขาร้องเพลงสวดสรรเสริญพระเจ้าอยู่ทุกวัน  อย่างนี้เราจะไม่เอาอย่างเขามั่งหรือ

    อันที่จริงการร้องเพลงสวดนี้มีในพระพุทธศาสนามานานกว่าหกร้อยปีแล้ว  และเรื่องที่ท่านสวดมากที่สุดก็มีอยู่สองเรื่อง คือ เรื่องพระเวสสันดรชาดก ที่เรียกกันว่า มหาชาติ(ชาติใหญ่)  เรื่องหนึ่ง  คือ พระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ที่จะเกิดมาเป็นพระพุทธเจ้า เรื่องที่สองที่นิยมสวดคู่กันมาคือเรื่อง "กาพย์พระมาลัย" ที่เป็นเรื่องเล่าว่าพระมาลัยเทพเถร  พระอรหันต์แห่งเมืองลังกา  ท่านมีอิทธิฤทธิ์ปาฎิหารย์แบบพระโมคัลลานะ ในสมัยพุทธกาล  คือ ท่านสามารถเหาะไปเยี่ยมนรก เยี่ยมสวรรค์ได้  แล้วก็กลับมาเล่าให้ญาติโยมฟังว่าท่านได้พบเปรตในนรก ซึ่งชื่อนั้นๆ  เป็นญาติพี่น้องลูกหลานพ่อแม่ของคนนั้นกำลังได้รับทุกข์เวทนาอยู่ในนรก สั่งมาให้ลูกเมียทำบุญส่งอุทิศไปให้ด้วย  ท่านเล่าถูกต้องตรงกับความจริงหมดว่าเมื่อเป็นคนอยู่ในโลกมนุษย์นี้เปรตคนนั้นทำบาปกรรมอันใดไว้จะไม่เชื่อท่านก็ไม่ได้ เพราะท่านบอกถูกต้องตามความจริงหมด ชื่อเสียง บ้านช่อง บาปกรรมท่านก็บอกถูกหมด ทำใหคนเลื่อมใสศรัทธาทำบุญอุทิศกุศลส่งไปให้เปตชนในโลกนรก  

     ต่อมาท่านได้รับดอกบัวแปดดอกที่ยาจกคนหนึ่งถวายท่าน พระมาลัยจึงนำดอกบัวน้ันไปบูชาพระเจดีย์  พระจุฬามณีในดาวดึงส์  พระมาลัยจึงได้พบเทวดามาบูชาพระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศธาตุของพระพุทธเจ้าในดาวดึงส์กันมากมาย

     ท่านได้ถามพระอินทร์ว่าเทวดาองค์นั้นมีบริวารนับร้อย นับพัน นับหมื่น  นันแสน ทำบุญไว้อย่างไรในโลก

     พระอินทร์ก็ตอบว่าเทวดาองค์นั้นให้ทานข้าวแก่กา
     เทวดาองค์นั้นเป็นเด็กเลี่้ยงวัว เอาข้าวห่อไปกินแล้วแบ่งให้เพื่อนเด็กเลี้ยงวัวกิน เทวดาองค์นั้นเมื่อเป็นคนเดินไปบนหาดทรายมีจิตใจเลื่อมใสพระพุทธศาสนาจึงก่อเจดีย์ทรายขึ้นอุทิศถวายพระพุทธเจ้าด้วยใจศรัทธา  เป็นต้น

      ด้วยบุญแม้เพียงเล็กน้อยที่ต้ังใจทำนั้น ส่งผลให้ไปบังเกิดในสวรค์มีนางฟ้าเป็นบริวาร

     ท่านจึงได้ทูลถามพระศรีอารย์ว่าท่านบำเพ็ญบุญอันใดไว้ พระศรีอารย์ตรัสเล่าให้พระมาลัยฟัง  พระมาลัยถามว่าเมื่อไรจะเสด็จลงไปประกาศธรรมสั่งสอนชาวโลก พระศรีอารย์ก็ตรัสว่าจะลงไปประกาศธรรมเมื่อสิ้นศาสนาพระสมณโคดมแล้ว  และเมื่อชาวโลกไม่เบียดเบียนกัน คนในศาสนาของท่านนั้นจะมีความสุขเหมือนเทพยดาในเมืองแมนแดนสวรรค์  จะไม่มีทุกข์ ไม่ยากจน ไม่มีโรคภัย คนหูหนวก ตาบอด ใบ้ บ้า คนเป็นโรคเรื้อน โรคฝี จะไม่มาเกิดมีในศาสนาพระศรีอารย์เลย  ทุกคนจะมีรูปร่างสวยงามเหมือนกันหมด มองดูที่เดินตามถนนหนทางจะไม่รู้จักว่าเป็นใคร ต่อเมื่อขึ้นเรือนชานแล้วจึงจำกันได ้

     พระมาลัยถามว่าทำบุญอย่างไรจึงจะได้ไปบังเกิดในศาสนาพระศรีอารย์ พระศรีอายรย์ตรัสตอบว่า ให้ทำทาน รักษาศีล กระทำสมถภาวนา ให้เอาพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มาภาวนา ให้สร้างวัดให้บูชาพระสงฆ์  สามเณร และนางชี ให้ถวายอาหาร ไตรจึวร หยูกยา และสร้างวัดวาอารามให้พระสงฆ์อยู่เป็นสุข  ไม่ให้ผิดศีลห้า ไม่ให้เบียดเบียนกัน เป็นต้น 

     พระมาลัยจึงลงมาบอกเล่าแก่ชาวบ้าน ให้เร่งรีบทำบุญสร้างกุศลจะได้ไปเกิดในศาสนาพระศรีอารย์ เรียกว่า เกิดทันศาสนาพระศรีอาริยเมตไตรยในอนาคต  
        
     ข้าพเจ้าเข้าใจว่า  สมเด็จพระสังฆราชมี วัดมหาธาตุ ท่านได้แปลเรื่องนี้มาาจากฏีกาเรืองพระมาลัยที่พระสงฆ์ไทยได้มาจากประเทศลังกา  ในสมัยรัชกาลที่ ๒น้ัน  ต่อมาท่านได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช วัดมหาธาตุ  มีอำนาจปกครองคณะสงฆ์ไทยทั่วประเทศ  ท่านจึงทรงสั่งให้วัดวาอารามทั่วไปสวดพระมาลัยกลอนสวดที่ท่านทรงนิพนธ์ขึ้่นนี้  นิยมสวดกันมานานตั้งแต่สมัยนั้นเรื่อยมา  เพราะเป็นธรรมเนียมของคนไทยที่นิยมทำตามคำสั่งสอนของผู้ใหญ่  ครูอาจารย์ ดังที่สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ เมื่อสมัยทรงผนวชอยู่เป็น  พระวชิรญาณภิกษุ  ได้ทรงต้ังคณะสงฆ์ใหม่ขึ้นเรียกว่า  คณะธรรมยุตินิกาย ก็มีคณะสงฆ์เข้าบวชแปลงอยู่ในคณะนี้กันมากมาย  ทรงนิพนธ์บทสวดมนต์ขึ้น เช่น นมการอัฎฐคาถา  หรือ นะโมแปดบท  ก็มีพระสงฆ์นำมาสวดกันอยู่ทุกวันนี้  

     เรื่องพระมาลัยกลอนสวดนี้ จะต้องเป็นคณะสงฆ์องค์สำคัญขนาดสมเด็จพระสังฆราชมีนี้นิพนธ์ขึ้น  แล้วสั่งให้พระสงฆ์ตามวัดต่างๆ ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองสวดกันเป็นแหล่อันไพเราะขึ้่น  จึงนิยมกันมานานเช่นนี้  ไม่ใช่คนคนอื่นแต่งแน่  เพราะจะไม่มีพระสงฆ์นิยมสวดกันดังที่เคยเป็นมานั้น

     สมเด็จพระสังฆราชมีองค์นี้  ท่านก็เป็นนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาอยู่ ขนาดที่พระพุทธเลิศหล้าก็ทรงรับเอาเรืองการทำพิธีวิสาขบูชา  มาสั่งการปฎิบัติให้กระทำบุญเวียนเทียน  ฟังธรรม ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต  ให้ประดับธงทิวในวันวิสาขบูชาทั่วไป  พระนั่งเกล้าฯ  ก็ยังทรงขอให้นิพนธ์เรื่อง มหาบุรุษลักษณะ ขึ้นถวายเพื่อจะทรงทราบว่าพระมหาบุรุษน้ัน มีลักษณะอย่างไร  เพราะพระนั่งเกล้าฯ ก็ทรงบำเพ็ญพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ ทรงปรารถนาพระโพธิญาณ 

     เรื่องนี้มีหลักฐานปรากฎอยู่ในประกาศพระราชพิธีในรัชกาลนั้น  ทรงประกาศแก่เทพยดาว่าทรงปรารถนาจะได้  "ตรัสแก่พระปรมาภิเศกสัมโพธิญาณ"  ในอนาคตกาล อันนี้คือ พยานหลักฐานความศรัทธาเลื่อมใสในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาเรื่องวัฎสงสาร การเวียนว่ายตายเกิด  การบำเพ็ญบุญกุศลเพื่อจะได้ไปเกิดในชาติหน้าภพหน้า ในอัตภาพที่ดีขึ้นของพุทธศาสนิกชน  และเชื่อเรื่องศาสนาพระศรีอาริยเมตไตรยในอนาคตกาลอีกแสนไกล  เมื่อสิ้นพระพุทธศาสนาของพระพุทธโคดม ก็จะถึงศาสนาของพระศรีอาริยเมตไตรย ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงพยากรณ์ไว้แล้ว  

     พระศรีอารย์ขณะนี้จุติเป็นเทพอยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต  รอเวลาจะเสด็จลงมาเกิดในโลกมนุษย์เพื่อตรัสรู้ธรรมประกาศพระศาสนาในอนาคต  เป็นพระองค์ที่ ๒๙ 

     ตามหลักฐานที่ปรากฎนั้น เรื่องพระมาลัยนี้ ไทยเราคงได้อรรถกถามาจากประเทศลังกาในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์คร้ังหนึ่งแล้ว  ด้วยในสมัยนั้นไทยเราส่งพระสงฆ์ไปสืบพระศาสนาในประเทศศรีลังกา เมื่อกลับมาคงจะได้อรรถกถาเรื่องพระมาลัยมาด้วยในรูปภาษาบาลี เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์  จึงได้แปลออกเป็นภาษาไทยชื่อว่า "พระมาลัยคำหลวง"  แต่ทรงแปลเป็นร่ายยาว  มีภาษาบาลีประกอบบทด้วย ทำให้ยากแก่การอ่าน เป็นภาษาสูงเกินไป เข้าไม่ถึงระดับชาวบ้าน เรื่องนี้ยังไม่สู้แพร่หลาย อ่านกันอยู่ในหมู่นักปราชญ์ราชกวี หรือชนชั้นสูงเท่าน้ัน  

     ส่วนพระมาลัยคำกาพย์ที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ ข้าพเจ้าค่อนข้างมั่นใจมากว่า เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราชมี  วัดมหาธาตุ       ทรงนิพนธ์ขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๒ ที่สันนิษฐานดังนี้  เพราะในสมัยที่ท่านยังเป็นสมเด็จพระวันรัตน์  วัดราชบูรณะนั้น  ท่านได้รับมอบหมายจากสมเด็จพระสังฆราชสุก วัดมหาธาตุให้จัดพระสงฆ์วัดราชบูรณะ และพระสงฆ์วัดมหาธาตุ เป็นสมณทูตไปเจริญทางพระศาสนาในประเทศศรีลังกา  เป็นคณะสงฆ์ไทยคณะแรกที่ไปประเทศลังกาสมัยกรุงเทพฯ  พระสงฆ์คณะนี้คงจะได้อรรถกถาภาษาบาลีเรื่องพระมาลัยเข้ามาอีกคร้ังหนึ่ง  อรรถกถาที่ได้มาในสมัยพระเจ้าบรมโกษฐ์ คงจะสาปสูญไปในกองเพลิงที่เผากรุงศรีอยุธยาเมื่อพ.ศ. ๒๓๑๐ โน้นแล้ว  

     เมื่อได้อรรถกถาเรื่องพระมาลัยมาใหม่ สมเด็จพระสังฆราชมี จึงได้ทรงพระนิพนธ์เป็นคำกาพย์ขึ้นในรัชกาลที่ ๒ นั้นเอง  ต่อมาเมื่อท่าดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช มาสถิตย์วัดมหาธาตุแล้ว ท่านมีอำนาจในการปกครองบังคับบัญชาสงฆ์  ท่านจึงสามารถสั่งไปทางหัวเมืองให้เจ้าคณะสงฆ์ในหัวเมืองสวดพระมาลัยคำกาพย์กัน คู่กับการเทศน์แหล่มหาชาติในงานสงกรานต์

     ที่ว่าเช่นนี้ เพราะปรากฎว่าพระสังฆราชมีองค์นี้ ท่านเป็นนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา ท่านได้ปฎิบัติกิจในพระศาสนาไว้หลายอย่างในสมัยที่ท่านเป็นสมเด็จพระสังฆราช คือ
     ๑. แก้ไขการสอบพระปริยัติธรรม จากเดิมที่มีเปรียญตรี โท  เอก เป็นเปรียญ๓ เปรียญ๔ เปรียญ๕ เปรียญ๖ เปรียญ๗ เปรียญ๘ ้เปรียญ๙ 
     ๒. ถวายพระพรให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กระทำพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงเทพฯ เพราะเคยมีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยแล้วมาเลิกราไปเสีย  พิธีวิสาขบูชาจึงเริ่มมีขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง  เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานในวันนี้เป็นอัศจรรย์
     ๓. ทรงนิพนธ์หนังสือเรื่อง "โอวาทานุสาร" ขึ้นเป็นสังฆาณัติแก่พระสงฆ์ให้ถือปฎิบัติเพราะการปฎิบัติของพระสงฆ์หย่อนยานหละหลวมมาตั้งแต่เสียกรุง
     ๔. ทรงพระนิพนธ์เรื่อง " มหาบุรษลักษณะ"  ขึ้นถวายพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เผดียงให้ทรงพระนิพนธ์ขึ้น เพื่อจะทรงทราบว่ามหาบุรุษลักษณะน้ันเป็นอย่างไรบ้าง เนื่องจากพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรารถนาพระโพธิญาณ คือ เป็นมหาบุรษในอนาคตกาล
    ๕. ทรงนิพนธ์เรื่อง"อาการวินัยฆราวาส"  ขึ้นถวายพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าฆราวาสนั้นควรจะมีวินัยคือระเบียบมรรยาทอย่างไร
    เพราะฉนั้น จึงมองไม่เห็นว่าจะมีผู้ใดนิพนธ์เรื่องพระมาลัยคำกาพย์นี้นอกจากสมเด็จพระสังฆราชมี 

     ขอเล่าไว้ตรงนี้ว่า ในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังชำระเรื่องพระมาลัยคำกาพย์อยู่น้ัน ได้นิมิตพบสมเด็จพระสังฆราช และได้สนทนากันถึงเรื่องพระมาลัยคำกาพย์ด้วย 

     เรื่องพระมาลัยนี้เป็นที่นิยมเลื่อมใสศรัทธากันมากในสมัยนั้น ประจักษ์พยานก็คือสมเด็จพระสังฆราช สุข ไก่เถื่อน องค์ต่อมา สมัยที่ท่านยังเป็นสมเด็จพระญาณสังวร วัดราชสิทธาราม หรือ วัดพลับนั้น ท่านเป็นพระสงฆ์ที่เชี่ยวชาญทางฌานสมาบัติ ท่านได้สร้างพระเครื่องขึ้น ๓ แบบคือ
     ๑. พระสมเด็จ  รูปสี่เหลี่ยม มีองค์พระอยู่กลาง  มีครอบองค์พระเป็นกรอบรูประฆังคว่ำ ทำด้วยปูนขาวผสมผงปฐมัง  ผงอิทธิเจ ผงปฐมัง คือผงจากดินสอเขียนกระดานชนวนด้วยการเสกภาวนาในขณะเข้าฌานสมาบัติคั่นปฐมฌาน  ผงอิทธิเจ คือผงที่เสกด้วย "อิทธิเจตสิก"  ในขณะเข้าฌานถึงคั่น "มโนมยิทธิ"  ที่เรียกว่า พระสมเด็จ นั้นคือ  "สมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรย"  ไม่ใช่พระพุทธเจ้า  ครอบระฆังคว่ำนั้นคือพระรัศมีของสมเด็จพระศรีอริยเมตไตรย
     ๒. พระพิมพ์รูปตุ๊กตา รูปหัวแม่มือ พระเศียรโล้น นั้นคือพระมาลัยเทวเถร  ถ้าเศียรแหลมหมายถึงพระศรีอารย์
     ๓. พระพิมพ์ทรงวันทา  มือถือดอกบัว  หัวสวมหมวกแหลมเป็นหมวกเจ๊กคือ ยาจกที่ถวายดอกบัวพระมาลัยให้เอาไปบูชาพระจุฬามณีบนดาวดึงส์ สมัยก่อนเราเรียกคนขอทานว่า "เจ๊กขอทาน" เพราะคนไทยอยู่ดีมีสุข ไม่ต้องขอทาน มีแต่เจ๊กสวมหมวกขอทาน
     พระเครืjองท้ัง ๓ แบบนี้ เป็นคติธรรมที่มาจากเรื่องพระมาลัยเทวเถร จากเรื่องพระมาลัยนี้เอง  ต่อมาสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) ลูกศิษย์พระสังฆราชสุข ไก่เถื่อน ท่านก็สร้างพระสมเด็จขึ้นตามแบบอาจารย์  นี่คือสมเด็จพระศรีอารย์ ไม่ใช่รูปพระพุทธเจ้าแต่อย่างใดเลย 

     ยิ่งกว่านั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)  ท่านยังได้สร้างพระรูปพระศรีอารย์องค์ใหญ่ไว้ที่วัดอินทรวิหารด้วย  เป็นพระยืนอุ้มบาตรนั่นเอง  ที่เรียกว่า หลวงพ่อโต  วัดอินทร์ นั่นคือรูปพระศรีอารย์โปรดสัตว์  พระอุ้มบาตรน้ัน โบราณเรียกว่า "พระเจ้าโปรดสัตว์"  พระองค์นี้ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เป็นพระศรีอารย์ที่จะมาตรัสรู้ในอนาคตกาลอีกแสนไกล  ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ท่านสร้างพระศรีอารย์นี้ เพราะท่านปรารถนาพระโพธิญาณ คือ ปรารถนาต้ังจิตอธิษฐานที่จะเกิดเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล แต่ผู้ที่จะไปเกิดเป็นพระพุทธเจ้านั้น  จะต้องพบพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งเสียก่อน  เมื่อได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าแล้ว  จึงจะมีสิทธิเกิดเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป  สมเด็จพระพุฒาจารย์ ท่านจึงปรารถนาจะเกิดในศาสนาพระศรีอารย์ เพื่อรับพุทธพยากรณ์ตามพุทธประเพณีเสียก่อน  ท่านจึงสร้างพระรูปพระศรีอารย์ไว้ ทั้งองค์ใหญ่สูงหลายวา กับพระเครื่ององค์เล็กๆ ซึ่งคนมักเข้าใจผิดคิดว่าคือพระพุทธรูป  อันที่จริงคือ "สมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรย"  จึงได้เรียกกันว่า "พระสมเด็จ"  

     ตามธรรมดา พระพุทธเจ้าเขาไม่เรียกกันว่า "พระสมเด็จ"  เพราะท่านมีศักดิ์สูงกว่าสมเด็จ พระเจ้าแผ่นดินก็ไม่เรียกว่าสมเด็จ แต่เรียกว่า "พระบาทสมเด็จ"  ส่วนพระพุทธเจ้านั้น เราเรียกว่า "พระบรมครู" หรือ "พระบรมศาสดา" หรือ "พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า" 

     อย่างไรก็ดีแสดงว่าคนไทยในสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้น ศรัทธาเลื่อมใสพระศรีอารย์กันมากเพียงใด ที่เลื่อมใสศรัทธากันมากทั้งพระภิกษุสงฆ์และฆราวาสนั้น ก็มาจากเรื่องพระมาลัยเทวเถร พระอรหันต์องค์หนึ่งที่มีฤทธิ์เหาะไป (ไม่ใช่ถอดกายทิพย์ไป) เฝ้าพระศรีอารย์บนดาวดึงส์ ที่มาสักการะบูชาพระบรมธาตุ พระมาลัยเทวเถรองค์นี้ ท่านมีฤทธิ์เทียบเท่าพระโมคัลลานะทีเดียว เมื่อพบพระศรีอารย์แล้วก็ได้ทูลถามว่า จะลงมาตรัสรู้เมื่อใด พระศรีอารย์ก็ตอบให้ทราบและบอกว่าคนที่ปรารถนาจะเกิดทันศาสนาของพระองค์แล้วให้ทำบุญกุศลอย่างไรบ้าง ตามความพิศดารในเรื่องพระมาลัยคำกาพย์

     ข้าพเจ้าเห็นว่าพระมาลัยคำกาพย์นี้เป็นวรรณคดีพระพุทธศาสนาที่สำคัญที่สุด ในจำนวน ๔ เรื่องทีมีอยู่คือ 
     ๑. เตภูมิกถา หรือที่เรียกว่า "ไตรภูมิพระร่วง" 
     ๒. มหาเวสสันดรชาดก ฉบับ ๑๓ กัณฑ์ ที่นิพนธ์เป็นร่ายยาว
     ๓. พระมาลัยคำกาพย์ ที่นิพนธ์เป็นคำกาพย์
     ๔. พระปฐมสมโพธิกถา ที่นิพนธ์เป็นร่ายดั้น

     สำหรับเรื่องพระมาลัยคำกาพย์นั้นนับว่าแพร่หลายที่สุดในหมู่พุทธศาสนิกชนชาวบ้านธรรมดาทั่วไป  เพราะท่านนิพนธ์เป็นคำกาพย์เมื่ออ่านเป็นทำนองเสนาะแล้วจะไพเราะมาก   เป็นคำประพันธ์ที่ติดหูติดใจคนจำนวนมาก  ยิ่งกว่าเรื่องอื่นใน ๔ เรื่องนั้น  เป็นเรื่องที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อถือของประชาชนมากที่สุด  มีคนรู้จักเรื่องนี้มากที่สุด  ข้าพเจ้าคิดว่าควรจะรักษาเรื่องนี้ไว้ให้ดี และเผยแพร่ให้พุทธศาสนิกชนรุ่นหลังได้อ่านกันด้วย  อันที่จริงน่าจะเป็นแบบเรียนในวิชาวรรณคดี ในมหาวิทยาลัยเสียด้วย  อย่างน้อยก็เป็นเรื่องอ่านประกอบในเรื่องวรรณคดีพระพุทธศาสนา  แต่น่าเสียดายที่ครูบาอาจารย์รู้จักกันน้อยเต็มที  ข้าพเจ้าจึงลงมือชำระสะสางวรรณคดีเรื่องนี้ทันทีที่มีเอกสารอยู่ในมือพอที่จะชำระสะสางได้ 
        
     โดยข้าพเจ้ามีความชำนาญในการแต่งกาพย์อยู่พอสมควร  ถึงแก่ได้แต่งคำกาพย์ไว้เรื่องหนึ่งแล้ว คือ "กาพย์พญากงพญาจารพญาภาณธรรมจักร"  เมื่อมาอ่านกาพย์พระมาลัยนี้จึงรู้ได้ทันทีว่านี่คือคำกาพย์  พระมาลัยกลอนสวดนี้คือ "พระมาลัยคำกาพย์" นี่เอง ท่านนิพนธ์ไว้ด้วยคำกาพย์ ๕ ชนิดคือ
     ๑. กาพย์ยานี ๑๑
     ๒. กาพย์ฉบัง ๑๖
     ๓.กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘
     ๔.กาพย์ร่ายไม้ ๓๒ ( ต้นฉบับใช้ว่า ร่าย)
     ๕.กาพย์เอกบท ๑๒ (ต้นฉบับใช้ว่า เอกบท) 

     ไม่มีอยู่แต่กาพย์ขับไม้ ๓๖ เท่านั้น เพราะกาพย์ขับไม้ ๓๖ ท่านถือว่าเป็นกาพย์ศักดิ์สิทธิ์ใช้แต่งในพระบรมราชโองการเท่าน้ัน  คือแต่งขึ้นสำหรับขับกล่อมพญาช้างเผือกที่ทำพิธีขึ้นระวางเป็นพญาช้างคู่พระบารมี  ดั่งที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ท่านทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นสำหรับขับกล่อมพญานรารัฐกิริณึจากจังหวัดนราธิวาส

     เมื่อรู้แน่ชัดว่าเป็นคำกาพย์ชนิดใดแล้ว  ก็ตรวจดูว่าถูกต้องตามแบบฉันทลักษณ์หรือไม่  ขาดตกบกพร่องหรือผิดถูกอย่างไร  แล้วชำระเสียให้ถูกต้องโดยใช้หลัก
     ๑. อนุรักษ์ รักษาของเก่าไว้ให้มากที่สุด
     ๒.อภิรักษ์ ตบแต่งให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นกว่าเดิม
     ๓.ปฎิรักษ์ รื้อของเก่าทิ้ง  แต่งขึ้นใหม่ ซ่อมบางคณะที่ตกไป
     ดังที่ปรากฎอยู่ในเรื่องนี้แล้ว  ท่านผู้อ่านใครมีต้นฉบับอยู่ก็โปรดนำมาเปรียบเทียบดูเอาเองว่า ข้าพเจ้าชำระผิดถูกประการใดบ้าง  แต่แน่นอนฉบับนี้คงแตกต่างจากฉบับอื่นเป็นแน่  คงจะไม่เหมือนฉบับใด  อาจจะเรียกฉบับนี้ว่า "ฉบับของนายเทพ สุนทรศารทูล" ก็ย่อมได้ 
     แต่มิใช่หมายความว่า ข้าพเจ้านิพนธ์เอง ข้าพเจ้าสันนิษฐานอย่างมั่นใจว่า พระสังฆราช มี วัดมหาธาตุ ทรงนิพนธ์ขี้นในรัชกาลที่ ๒ หรือรัชกาลที่ ๓ ตามเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้นและจากนิมิตที่ได้สนทนากับสมเด็จพระสังฆราชด้วย 
     ข้าพเจ้าหวังว่าพระมาลัยคำกาพย์นี้คงจะเป็นที่สนใจของนักวรรณคดีมากรวมทั้งนักภาษาและนักการศาสนา   ผู้ที่รักวรรณคดีไทยและเอกลักษณ์ของไทยก็คงจะสนใจด้วย  เพราะกาพย์พระมาลัยนี้คือเรื่องวัฒนธรรมทางระเบียบประเพณีและวัฒนธรรมทางจิตใจของไทยเราโดยแท้  ข้าพเจ้าหวังว่าสักวันหนึ่งกงล้อประวัติศาสตร์คงจะหมุนกลับมาใหม่ ให้ทางวัดวาอารามนำเอาพระมาลัยคำกาพย์นี้ออกมาสวดทำนองเสนาะให้ชาวบ้านฟังในวันตรุษสงกรานต์อีกครั้งหนึ่งเหมือนสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  

     ชาติใหญ่ที่มีวัฒนธรรมน้ันย่อมมีระเบียบประเพณีเป็นของชาติ และรักษาไว้เป็นสัญลักษณ์ของชาติ วัฒนธรรมเป็นแกนใจให้รักษาชาติได้ตลอดกาลนาน  อย่างชนชาติจีนนั้นเขามีวัฒนธรรมของเขาเช่นการสวกกงเต็ก เป็นต้น  เราจะต้องยอมรับว่าวัฒนธรรมของจีนมีมากมายที่รักษาชาติจีนไว้เป็นปึกแผ่น  แม้จะพูดภาษาต่างกัน เขาก็ยังยอมรับว่าเขาคือคนจึน  วัฒนธรรมของเขาแข็งแกร่งดั่งศิลาทึบท้ังแท่ง  ไม่มีใครจะทำลายได้เลย 

     ไทยเรามีวัฒนธรรมที่อ่อนแอกว่า  เพราะว่าเราเป็นชนชาติที่ตื่นเต้นของใหม่ๆ  รับเอาวัฒนธรรมใหม่ๆ มาใช้จนลืมวัฒนธรรมของตนเอง

     การสวดพระมาลัยนี้เป็นวัฒนธรรมอันหนึ่งที่ควรจะฟื้้นฟูและรักษาเอาไว้ มันเป็นวัฒนธรรมทางระเบียบประเพณี  และวัฒนธรรมทางจิตใจที่สำคัญมาก  ทำให้คนฟังรู้สึกบาปบุญคุณโทษ  และมีศรัทธาเชื่อถือในพระพุทธศาสนานิกายพระโพธิสัตว์ด้วยคือ ความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาใช้กรรมเก่า  และสร้างบุญใหม่เพื่อติดตามไปในชาติหน้าภพหน้า   คนเราเกิดมาอาจจะสร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ได้ คือ เกิดในภพหน้าชาติหน้าเพื่อช่วยเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายให้พ้นทุกข์   เป็นนิกายที่เหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองของเรา ที่ยังมีคนยากจนอยู่อีกมาก คนเหล่านี้เขาต้องการที่พึ่ง คนที่เกิดมาดีจึงควรทำตัวเป็นพระโพธิสัตว์ช่วยสงเคราะห์สัตว์อื่นให้พ้นทุกข์  นี่คือลัทธินิกายพระโพธิสัตว์ ที่ควรจะส่งเสริมในบ้านเมืองเราดั่งที่คนจีนส่วนใหญ่เขาก็นับถือนิกายพระโพธิสัตว์นี้  เขาจึงตั้งมูลนิธิปอเต็กตึง มูลนิธิร่วมกตัญญูขึ้นช่วยคนไทยทุกวันนี้

     เพราะไทยเราห่างเหินลัทธินิกายพระโพธิสัตว์นี้  เราจึงกลายเป็นคนเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้   ประพฤติทุจริตคอรับชั่นกันอยู่  เพราะเราขาดการศึกษาอบรมในลัทธิพระโพธิสัตว์นี้  เราจึงต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้นใหม่ในบ้านเมืองของเรา 

     พระมาลัยคำกาพย์นี้แหละจะช่วยได้มาก  หากว่าเรารู้จักเอามาใช้ในการศึกษาอบรมคนในชาติของเรา เรามีของดีอยู่แล้ว  แต่เราพากันหลงลืมทอดทิ้งเสีย  จึงต้องรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่  สำหรับประเทศที่พลเมืองส่วนใหญ่ยังอดอยากยากจนอยู่   เราจะต้องอบรมคนไทยเราให้มีจิตใจเป็นพระโพธิสัตว์  ช่วยสงเคราะห์คนยากจน ช่วยสังคม ช่วยสาธาณชน 

     พระมาลัยคำกาพย์นี้   คือวรรณคดีพระพุทธศาสนาที่ช่วยเราได้มาก   เหมือนที่เคยช่วยคนไทยสมัยปู่ย่าตาทวดมาแล้ว  คนไทยสมัยปู่ย่าตาทวดของเราล้วนเป็นคนใจบุญสุนทาน ทำบุญให้ทาน ช่วยคนยากคนจน ช่วยสงเคราะห์สัตว์ผู้ยากกันอยู่เป็นปกติ

     ตกมาถึงรุ่นเราที่หลงเรียนวิชาทางโลกตามแบบฝรั่งกันมากขึ้น  ชีวิตจิตใจคนไทยก็เปลี่ยนไปเป็นคนโลภ คนเห็นแก่ตัวมากขึ้นทุกวัน เราต้องโทษว่านี่เป็นความล้มเหลวของระบบการศึกษาของเราเอง  เพราะคนใหญ่คนโตรุ่นหลังที่เข้ามาบริหารการศึกษามักจะสำเร็จการศึกษาจากเมืองนอกเสียมาก  

     เนื่องจากไม่ได้ศึกษาให้ลึกซึ้ง ก็เข้าใจว่าการสวดคำกาพย์พระมาลัยนี้เป็นเรื่องเหลวไหล เป็นเรื่องพระร้องเพลง เสียสมณสารูป 

     การอบรมลูกเสือชาวบ้านที่ร่วมร้องเพลงกันอยู่ทุกวัน  เพลงที่ร้องประสานเสียงกันนั้นมีอิทธิพลโน้มน้อมใจคนให้มีอารมณ์ร่วมกัน  รักกันฉันพี่น้อง  อบรมลูกเสือชาวบ้าน ๕ วัน ๕ คืน  ตอนจะจากกันเขายังร้องไห้รักกัน  เพราะอะไรอยู่ด้วยกันเพียง ๕ วัน ๕ คืน  เหตุไฉนจึงรักกันดูดดื่มจนร้องไห้รักกัน    เสียงเพลงนี่้แหละจะโน้มน้อมใจคนให้เคลิบเคลิ้มหลงไหล  เกิดอารมณ์ความรักชาติ   เกิดความเชื่อถือพระเจ้า โบราณท่านรู้เรื่องนี้ดี  ท่านจึงมีแหล่มหาชาติ มีสวดพระมาลัยเป็นต้น   มีดนตรีปี่พาทพ์บรรเลงเพลงประกอบด้วย   ไปถามนักดนตรีเอาเองเถิดว่า เขาใช้เพลงอะไร บรรเลงตอนไหน  

     เรามีวัฒนธรรมอันดีงามมาแล้ว แต่มาสั่งยกเลิกเสียเพราะเห็นว่าจะทำให้สงฆ์เสียวินัย น่าเสียดายมาก  จึงได้อุตส่าห์ชำระพระมาลัยกลอนสวดนี้ขึ้นมา  เพื่อว่าจะเป็นแรงผลักดันให้คนไทยหวนคิดถึงความหลังคร้ังปู่ย่าตาทวดได้บ้าง  หวังว่าท่านวิญญูชน รวมทั้งท่านปริญญาชน หรือเปรียญชนทั้งปวงคงจะมีเวลาตรึกตรองเรื่องนี้ดูบ้าง เมื่ออ่านวรรณคดีเรื่อง "พระมาลัยคำกาพย์" นี้จบลง 

     ข้าพเจ้าได้แต่หวังว่า แรงงานและทุนรอนที่ทุ่มเทลงไปในเรื่องการชำระพระมาลัยคำกาพย์นี้ คงจะเป็นที่รู้จักกันต่อไปอีกนานแสนนาน 

     ปัจจุบันนี้เราได้พระบารมีของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  ทรงฟื้นฟูการเล่นสักวา  และฟื้นฟูการเทศน์แหล่มหาชาติขึ้น  เป็นการรักษาวัฒนธรรมขนมธรรมเนียมประเพณีไว้ 

     ข้าพเจ้าจึงได้แต่ตั้งจิตอธิษฐานว่า  ขอให้พระองค์ทรงช่วยการฟื้นฟูการสวดพระมาลัยสักอย่างหนึ่งเถิด  เป็นของคู่กันกับการสวดแหล่มหาชาติ ที่มีมาแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  เพราะเป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย   เหมือนที่ชาวจึนรักษาประเพณีการสวดกงเต็กไว้จนทุกวันนี้   การสวดพระมาลัยนี้ยังไม่สูญสิ้นไปหมด  วัดตามหัวเมืองในชนบทยังมีสวดกันอยู่  เรายังมีครูมีอาจารย์ที่ช่วยฝึกสอนให้แพร่หลายได้ 

     เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ นี้ ที่บ้านอาจารย์เสนาะ ศิษย์เวียงจันทร์ ก็มีการสวดพระมาลัยในงานศพของมารดาที่บ้าน  สวดอยู่ ๗ วัน ข้าพเจ้าดีใจที่แม้ในกรุงเทพฯ นี้ก็ยังมีสวดพระมาลัยกันอยู่  ในเขตจอมทอง กรุงเทพฯนี้เอง  ยังรักษากันไว้ได้ ความคิดที่ว่าพระสวดแหล่พระมาลัยจะทำให้พระเสียสมณสารูป  มองดุเหมือนพระร้องเพลงน้ันควรจะเลิกคิดได้แล้ว  เพลงสวดในพระพุทธศาสนานั้นท่านใช้มานานนับพันปีแล้ว 
     การสวดมนต์ประสานเสียงของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา และนักบวชในศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม  คือการฝึกอารมณ์ร่วมของมวลชน มีผลในการหล่อหลอมจิตใจให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้คนมีระเบียบวินัย  มีสมาธิ มีศรัทธา ทั้งๆที่การสวดน้ันเป็นภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต หรือภาษาอาหรับที่ฟังไม่ออกเลย  การสวดพระมาลัยเป็นการฝึกสอนคนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ  อายชั่วกลัวบาป  ที่คนโบราณท่านใช้มานานนับพันปีแล้ว   มีผลในทางจิตวิทยามวลชนอย่างน่าอัศจรรย์  ปู่ย่าตาทวดเราคิดหาวิธีการฝึกฝนอบรมจิตใจศาสนิกชนไว้อย่างดีวิเศษ  ได้ผลอย่างอัศจรรย์มานานแล้ว  เราจึงควรจะฟื้ืนฟูการอ่านทำนองเสนาะในกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ให้แก่นักเรียน  เราควรจะฟื้นฟูการแหล่มหาชาติ  การสวดพระมาลัยขึ้นใหม่  ข้าพเจ้าขอฝากความคิดนี้ไว้ให้ท่านวิญญูชนพิจารณากันต่อไป  ถ้าหากว่ามีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราเห็นด้วย   และช่วยกันฟื้นฟู  ข้าพเจ้าก็จะเป็นสุขมาก  ไม่เสียเวลาที่ชำระวรรณคดีเรื่องกายพ์พระมาลัยนี้ขึ้นมา   ไม่เสียเวลาและแรงงานเปล่า ข้าพเจ้าต้องการเพียงเท่านี้   จึงลงทุนลงแรงชำระวรรณคดีเรื่องนี้และพิมพ์เผยแพร่แก่สาธารณชนเป็นวิทยาทานและธรรมทาน  โดยถือคติที่ว่า "สัพพทานัง  ธัมมทานัง ชินาติ" (การให้ธรรมะเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง) 
                                          
                                                            เทพ สุนทรศารทูล
                                                            ๒๒  สิงหาคม  ๒๕๓๒